คดีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของหนองญาติ

หนองญาติเป็น "หนองน้ำสาธารณะ " เพราะประชาชนคนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ทุกคน เป็นต้นว่า การเล่นน้ำ อาบน้ำ ว่ายน้ำ พายเรือ แข่งเรือ หาปลา พาวัวควายมากินมาเล่นน้ำ
ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ที่ราษฎร์ หรือ ที่สาธารณะ
ภาษากฎหมาย เรียกว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
มีกฎหมายให้การคุ้มครอง ห้ามการโอนแก่กัน ยกเว้นมีการถอนสภาพ โดยการออกกฎหมายในสภาฯเท่านั้น
คดีที่สาธารณะ ไม่มีอายุความ หมายความว่า ถึงจะครอบครองมานานแค่ไหน ก็เพิกถอนได้
กรมที่ดิน มีทะเบียนที่ระบุว่า หนองญาติ เป็นหนองน้ำสาธารณะประโยชน์ นี่เป็นหลักฐานข้อเท็จจริง

แต่จังหวัดนครพนมกลับไปขึ้นทะเบียน หนองญาติ เปลี่ยนจากอย่างหนึ่งไปเป็นอย่างหนึ่ง ในปีพ.ศ 2536
โดยเปลี่ยนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่ศาลากลางจังหวัด
และธนารักษ์พื้นที่นครพนม ได้นำหนองน้ำ"หนองญาติ" แห่งนี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ในปี พ.ศ 2546
ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ที่หลวง
ภาษากฎหมาย เรียกว่า ที่ราชพัสดุ
นี่คงเป็น ที่ราชพัสดุ ที่แปลกมหัศจรรย์ที่สุดในประเทศไทย ที่เป็นเพียงหนองน้ำสาธารณะธรรมดาๆๆ
เพราะมีกฎหมายห้าม เอาที่สาธารณะ มาเป็น ที่ราชพัสดุ ตามพรบ.ที่ราชพัสดุ มาตรา 4
แต่ที่น่าพิศวง งงงวยที่สุดก็คือ เป็น " ที่ราชพัสดุ " แปลงที่มีการดำเนินงานนานที่สุด ตั้งแต่ พ.ศ 2516 - 2546 สิริรวม 30 ปึเต็ม เฮ้อ !

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

" นิรมิตรหนองญาติ - นิราศหนองเซา " มหาอุปรากรแห่งทศวรรษ องค์ที่ 3

องค์ที่ 3 " ผู้ให้น้ำ จอมมายากลผู้ถลำลึก ไม่รู้ กลนึกนำ หรือ กรรมชักพา "

" ชล " แปลว่า น้ำ , " ประทาน "  แปลว่า ให้  ดังนั้นเมื่อรวมคำว่า " ชลประทาน " ก็แปลว่า ผู้ให้น้ำ  จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ชะตากรรมที่  1  ดลให้ กรมชลประทาน ขึ้นมาที่ นครพนม ก็เพราะหนองญาติหนองน้ำธรรมชาติ ( ขนาดพื้นที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ )  เกิดเหตุน้ำท่วมบ้านเรือนราษฏร
รัฐบาลสมัยนั้น จึงอนุมัติที่สาธารณะน้ำท่วมถึงให้ 100 ไร่ ( อยู่หลังเทศบาลหนองญาติ ) เพื่อทำหัวงานอ่างเก็บน้ำ มีบ้านพักคนงาน และคลองส่งน้ำคอนกรีตยาว 2 กม.เพื่อระบายน้ำออกจากหนองญาติ

 มายากล ที่ 1  หลังการทำระบบระบายน้ำให้หนองน้ำ " หนองญาติ " เสร็จในปี 2498   ก็บันทึกว่าหนองน้ำหนองญาตินั้นเป็น " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " มีเนื้อที่ 4,950 ไร่  เออ เก่งนะ ที่ทำไปทำมา หนองญาติ ก็มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นตั้งเยอะ


มายากล ที่ 2   เกิดขึ้นในปี 2516  เมื่อเจ้าหน้าที่รังวัดของกรมชลประทานออกเดินสำรวจ " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " เพื่อจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง  ได้บันทึกว่า อ่างเก็บน้ำหนองญาติ มีเนื้อที่ 3,284 ไร่ ( อ้าว แล้วเนื้อที่หายไปไหนตั้ง 1,700 ไร่ ) และระบุที่มาของหนองญาติว่า  ได้โดยการซื้อมาจากเจ้าของ มีสัญญาซื้อขาย มี นส. 3 เป็นหลักฐาน เรื่องนี้ใครจะเชื่อกรมชลประทาน ก็ตามใจนะ  กลัวแต่ว่า ศาลปกครองอาจจะเชื่อเรื่องนี้ยากซักกะหน่อย






 ชะตากรรม ที่ 2  จากการเดินสำรวจในครานั้นผ่านมาถึง 20 ปีเต็ม  ก็เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้นในปี 2536  เมื่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม อาจหาญไปเซ็นต์ชื่อในหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของ " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  ทั้งที่อธิบดีกรมที่ดินได้มอบอำนาจ ( เฉพาะตัว ) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯปฎิบัติราชการแทนในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในเขตพื้นที่จังหวัดนั้นไปแล้ว ( คำสั่งมีผลตั้งแต่ปี 2535 )



มายากล ที่  3   เกิดในปี 2540  เมื่อชลประทาน ได้ทำเรื่องโอน " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองญาติ เป็นผู้ดูแลแทน  ทั้งๆที่รู้ว่า " ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะโอนแก่กันมิได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฏหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกา "  และแถมด้วยการลบชื่อ " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " ออกจากสาระบบในโครงการของสำนักงานชลประทานจังหวัดนครพนม







ชะตากรรม ที่  3  ในปี 2545 กรมชลประทาน เกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบกุลีกุจอรีบทำเรื่อง ส่งคืนที่ราชพัสดุ " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ "  คืนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  ทั้งๆที่เพิ่งโอน " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " ให้ อบต.หนองญาติ ไปดูแลแทนเมื่อไม่กี่ปีมานี้  เออ จะเอายังไงดีล่ะ  แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดมันก็ตรงที่  " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " นี้เพิ่งจะมาขึ้นทะเบียนเป็น " ที่ราชพัสดุ " อย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามระเบียบกรมธนารักษ์ ก็ในปี 2546 นี้เอง

ในคำชี้แจงตอนหนึ่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  กรมชลประทานระบุว่า  " ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์ในกิจการชลประทาน  เมื่อไม่มีความจำเป็นในการใช้ประโยชน์แล้วเห็นสมควรส่งคืนให้แก่กรมธนารักษ์ "
ก็แปลกดีนะ  งั้นแสดงว่า  การโอนให้ อบต.หนองญาติ ก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้องล่ะสิ



หลักฐานนี้แสดงว่า เรื่องของ " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " ส่งมาที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครพนม ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ 2546  และถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ นพ 1347 เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ 2546



ชะตากรรม  ที่  4  ในช่วงปี 2542- 43  ทั้งที่ส่งมอบโอน " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " ให้ อบต.หนองญาติ ไปแล้ว  กรมชลประทาน ก็ยังมีงบจ้างผู้รับเหมา 23 ล้าน ( ที่มีคดีฟ้องศาลฯ ) ให้ทำการขุดลอกหนองญาติ  แล้วนำดินที่ได้ไปถมหนองญาติเพื่อรองรับสิ่งก่อสร้างในโครงการเมกะโปรเจคมูลค่านับพันล้าน  เช่น ที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนมแห่งใหม่ , ถนนรอบหนอง , พิพิธภัณฑ์ , หอเฉลิมพระเกียรติฯ , ศูนย์โอทอปนครพนม , ศูนย์ฝึกฝีมือ ฯ , สวนเฉลิมพระเกียรติฯ  และสนามกีฬาจังหวัดแห่งใหม่  ( เสียดายที่เอกสารเกี่ยวข้องหายไป จึงไม่มีแสดงประกอบ )


 








 






ชะตากรรม  ที่  5  นี่แหละที่เขาว่า " เหนือฟ้าชะตาลิขิต " ทั้งที่ศาลปกครองมีคำสั่งถึงกรมธนารักษ์ ห้ามมิให้อนุญาตผู้ใดเข้ามาใช้พื้นที่หนองญาติอีก  แต่กรมชลประทาน โดยเฉพาะท่านอธิบดีฯ ก็บ่ยั่น แถมยังถูกหวย " ไทยเข้มแข็ง " อีกตั้งเกือบ 30 ล้าน  เข้ามาทำโครงการขุดลอกหนองญาติ ( ครั้งที่ 2 ) และการป้องกันอุทกภัย ( ก็เป็นครั้งที่ 2 อีกนับแต่ปี 2494 )



            โครงการไทยเข้มแข็ง ที่หนองญาติ นครพนม มีการระบุชื่อเจ้าของโครงการอย่างชัดเจนว่า คือ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน  ส่วนเรื่อง  การจะขุดลอกและการจะป้องกันอุทกภัยหนองญาตินั้น กรมชลประทานจะทำแบบไหนวิธีใด ก็ให้ทำไปเถอะในตอนนี้  แต่ที่คนอยากรู้ก็คือว่า การทำแผนที่ประเทศไทยที่กลางหนองญาตินั้น  มันเป็นฮวงจุ้ยดีของโครงการ หรือยังไง     










         เอาล่ะ ก่อนที่มหาอุปรากรองค์ที่ 3  จะจบ  ใครจะมายาดีลีลายอดยังไง  ก็ขอบอกว่า " เจ้าที่หนองญาติ "  นั้นเฮี้ยนและก็ดุมากๆ  ครับท่านผู้ชม

                จบมหาอุปรากร " เนรมิตหนองญาติ - นิราศหนองเซา "  องค์ที่ 3

            ตอน    " ผู้ให้น้ำ จอมมายากลผู้ถลำลึก  ไม่รู้ กลนึกนำ หรือ กรรมชักพา "