คดีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของหนองญาติ

หนองญาติเป็น "หนองน้ำสาธารณะ " เพราะประชาชนคนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ทุกคน เป็นต้นว่า การเล่นน้ำ อาบน้ำ ว่ายน้ำ พายเรือ แข่งเรือ หาปลา พาวัวควายมากินมาเล่นน้ำ
ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ที่ราษฎร์ หรือ ที่สาธารณะ
ภาษากฎหมาย เรียกว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
มีกฎหมายให้การคุ้มครอง ห้ามการโอนแก่กัน ยกเว้นมีการถอนสภาพ โดยการออกกฎหมายในสภาฯเท่านั้น
คดีที่สาธารณะ ไม่มีอายุความ หมายความว่า ถึงจะครอบครองมานานแค่ไหน ก็เพิกถอนได้
กรมที่ดิน มีทะเบียนที่ระบุว่า หนองญาติ เป็นหนองน้ำสาธารณะประโยชน์ นี่เป็นหลักฐานข้อเท็จจริง

แต่จังหวัดนครพนมกลับไปขึ้นทะเบียน หนองญาติ เปลี่ยนจากอย่างหนึ่งไปเป็นอย่างหนึ่ง ในปีพ.ศ 2536
โดยเปลี่ยนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่ศาลากลางจังหวัด
และธนารักษ์พื้นที่นครพนม ได้นำหนองน้ำ"หนองญาติ" แห่งนี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ในปี พ.ศ 2546
ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ที่หลวง
ภาษากฎหมาย เรียกว่า ที่ราชพัสดุ
นี่คงเป็น ที่ราชพัสดุ ที่แปลกมหัศจรรย์ที่สุดในประเทศไทย ที่เป็นเพียงหนองน้ำสาธารณะธรรมดาๆๆ
เพราะมีกฎหมายห้าม เอาที่สาธารณะ มาเป็น ที่ราชพัสดุ ตามพรบ.ที่ราชพัสดุ มาตรา 4
แต่ที่น่าพิศวง งงงวยที่สุดก็คือ เป็น " ที่ราชพัสดุ " แปลงที่มีการดำเนินงานนานที่สุด ตั้งแต่ พ.ศ 2516 - 2546 สิริรวม 30 ปึเต็ม เฮ้อ !

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

" นิรมิตรหนองญาติ - นิราศหนองเซา " มหาอุปรากรแห่งทศวรรษ องค์ที่ 4

องค์ที่ 4 " นสล. นพ 0038 หนึ่งใบสิบชีวิต  ที่กินเนส บุ๊ค ออฟเวิร์ลเร็คคอร์ด ต้องตาลุกใส่   "

 ooooooooooooooooooooooooo

" เปิดม่าน "

นสล  อ่านว่า - นอ สอ ลอ  หรือ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง  
เป็นเอกสารหรือ หนังสือที่แสดงเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

" ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  เช่น ที่รกร้างว่างเปล่า ห้วยหนองคลองบึง ป่าช้า ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ถือเป็น " ที่ดินของรัฐ " ที่มี กฎหมาย ระเบียบและประกาศของมหาดไทย กำหนดให้ นายอำเภอท้องที่ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน มิให้เกิดการบุกรุกเข้ายึดครองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย  ไม่เช่นนั้น " จะทำให้รัฐ เป็นผู้เสียหาย "

" เปิดเวที "

 
ความมั่วตั่วพิกลพิการ ผสานมหัศจรรย์พันลึก ที่ " นสล. นพ 0038 " สมควรจะได้รับการบันทึกจาก กินเนส บุ๊ค ออฟ เวิร์ล เร็คคอร์ด ( สาขาประเทศไทย )  ก็มีดังนี้

1.  เป็นหนองน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้าน , ราษฏร , พลเมืองไทยใช้ประโยชน์ร่วมกันมานับร้อยปี แห่งแรกของจังหวัดนครพนม และ ประเทศไทย ( และสากลโลก ก็ว่าได้ ) ที่มีการออก" นสล. " หนังสือแสดงเขตที่ดินเป็นประเภท ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ( ใช้ในหน่วยงานราชการ ) โดยเฉพาะ  ทั้งๆที่ ห้วยหนองคลองบึง ที่มีอยู่ทั้งหมดในจังหวัดนครพนม และประเทศไทย  จะมี " นสล. " เป็นประเภท  พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน
2.  เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง  ฉบับแรกของประเทศไทย  ที่มีหลักฐานการได้มาของที่ดินคือ " หนองน้ำหนองญาติ "  ซึ่งทั้งแปลกและตลกโปกฮา ฮา ฮา  เพราะเป็นเอกสารจากหน่วยราชการเดียวกันแท้ๆคือ กรมชลประทาน  แต่ดันมีถึง 2 ชิ้น 2 ฉบับ มิหนำซ้ำก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย  คือ  ฉบับแรกจาก กองกฏหมายและที่ดิน บอกว่า  รัฐบาลสมัยนั้นอนุมัติที่สาธารณะ 100 ไร่ ให้ทำอ่างเก็บน้ำ   แต่อีกฉบับเป็น ใบใต่สวนของเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดิน กลับบอกว่า มีเนื้อที่ 3,284 ไร่ ได้มาโดยการซื้อมาจากเจ้าของ มีสัญญาซ์้อขาย มีนส. 3 เป็นหลักฐาน  เอาเข้าไปพี่น้อง เอ้ย  ( ซึ่งต่อมาในภายหลังหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ  ก็ออกมายอมรับว่า หนองญาติ มีที่ดิน 2 ประเภทปะปนกัน คือ  ส่วนที่เป็นหนองน้ำ 3,284 ไร่  กับ ส่วน 100 ไร่ ที่ทำหัวงาน " อ่างเก็บน้ำ " ของชลประทานเพื่อทำระบบระบายน้ำให้กับหนองน้ำหนองญาติ )
3.  นสล นพ 0038 เป็น  หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทย  ที่ลงนามโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ระดับชั้นและอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ไม่ใช่ทั้ง อธิบดีกรมที่ดิน  และหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
4.  นสล. นพ 0038  เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง  ที่มีการดำเนินงานตั้งแต่ 2516 - 2536  นานถึง 20 ปี ซึ่งถือว่านานที่สุดในประเทศไทย  ที่น่าสังเกตุอีกเรื่องก็คือ  การอาศัยหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับนี้  นำ " หนองญาติ " ไปขึ้นทะเบียนเป็น ที่ราชพัสดุ  ก็ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ( 2536 - 2546 ) ก็นานไม่น้อยเหมือนกัน  มันก็น่าคิดเหมือนกันว่า เป็นเพราะอะไร สดุดอะไร ทำไมถึงนานอย่างนั้น  แสดงให้เห็นว่า  อย่างน้อยๆการทำงานชิ้นนี้ ย่อมเกิดความอีหลักอีเหลื่อแกมพะอืดพะอม ผสมความอึ้งทึ่งเสียว ในหัวใจคนทำงานที่เป็นข้าราชการดีๆ บ้างล่ะนะ
5.  นสล. นพ 0038 เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง  ( เป็นเอกสารทางราชการที่มีนัยยะคล้ายกับ " โฉนดที่ดิน ของประชาชนทั่วไป " )  ฉบับที่ มีพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ต้องให้การดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน ใช้อ้างถึงความชอบธรรมในการเข้ามาใช้พื้นที่ใน " หนองญาติ " อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มากที่สุด เช่น นายอำเภอเมืองฯ  นายกอบจ. นายกเทศบาลเมืองฯ และนายก อบต.  แต่ที่ตลกร้ายที่สุดก็คือ  มีข้าราชการระดับสูงถึง 2 คน ที่กล้าหาญชาญชัย ยืนยันรับรองว่า นสล. นพ 0038 ฉบับนี้ มีความถูกต้องทุกประการ ในที่ประชุมจังหวัดฯต่อหน้ากรรมาธิการปกครองของรัฐสภาฯ เมื่อ พย. 2548 ที่อยากให้จดจำ ก็คือ อดีตนายอำเภอเมืองฯ คนหนึ่ง ที่วันนี้ได้ดีขึ้นไปเป็นรองผู้ว่าฯคนปัจจุบัน  และหัวหน้าชลประทานฯ ( ฐานะผู้ขอใช้งาน )
6.  ประการสุดท้าย ที่ " กินเนส "  จะต้องจับตาอย่างใจจดใจจ่อว่า " กระดาษเพียง 1 ใบ " นี้ ประเทศไทย จะเอานิติรัฐ หรือ คน  และต้องติดตามตอนต่อไปว่า กระดาษใบเดียวนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต  เจ้าพนักงานระดับน้อยใหญ่นับสิบ อย่างไร  ไม่นับรวมความปวดหัว โกลาหลอลหม่านของหน่วยราชการสำคัญอื่นๆอีกเช่น  ปปช.  ปปท. และ โดยเฉพาะ สตง. ที่ต้องมาตรวจการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ ที่ใช้จ้างคนงานมาดูแลสนามหญ้า ตลอดจนบิลล์ค่าน้ำค่าไฟฯ ที่ใช้จ่ายใน " สรรพสถาน " ที่เบ่งบาน มโหฬารบนหนองน้ำหนองญาติ แห่งนี้

"  ปิดม่าน  "

จบมหาอุปรากร " นิรมิตหนองญาติ - นิราศหนองเซา "  องค์ที่ 4

ตอน  "  นสล. นพ 0038 หนึ่งใบสิบชีวิต ที่ กินเนส บุ๊ค ออฟ เวิร์ลเร็คคอร์ด ต้องตาลุกใส่ "