คดีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของหนองญาติ

หนองญาติเป็น "หนองน้ำสาธารณะ " เพราะประชาชนคนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ทุกคน เป็นต้นว่า การเล่นน้ำ อาบน้ำ ว่ายน้ำ พายเรือ แข่งเรือ หาปลา พาวัวควายมากินมาเล่นน้ำ
ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ที่ราษฎร์ หรือ ที่สาธารณะ
ภาษากฎหมาย เรียกว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
มีกฎหมายให้การคุ้มครอง ห้ามการโอนแก่กัน ยกเว้นมีการถอนสภาพ โดยการออกกฎหมายในสภาฯเท่านั้น
คดีที่สาธารณะ ไม่มีอายุความ หมายความว่า ถึงจะครอบครองมานานแค่ไหน ก็เพิกถอนได้
กรมที่ดิน มีทะเบียนที่ระบุว่า หนองญาติ เป็นหนองน้ำสาธารณะประโยชน์ นี่เป็นหลักฐานข้อเท็จจริง

แต่จังหวัดนครพนมกลับไปขึ้นทะเบียน หนองญาติ เปลี่ยนจากอย่างหนึ่งไปเป็นอย่างหนึ่ง ในปีพ.ศ 2536
โดยเปลี่ยนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่ศาลากลางจังหวัด
และธนารักษ์พื้นที่นครพนม ได้นำหนองน้ำ"หนองญาติ" แห่งนี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ในปี พ.ศ 2546
ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ที่หลวง
ภาษากฎหมาย เรียกว่า ที่ราชพัสดุ
นี่คงเป็น ที่ราชพัสดุ ที่แปลกมหัศจรรย์ที่สุดในประเทศไทย ที่เป็นเพียงหนองน้ำสาธารณะธรรมดาๆๆ
เพราะมีกฎหมายห้าม เอาที่สาธารณะ มาเป็น ที่ราชพัสดุ ตามพรบ.ที่ราชพัสดุ มาตรา 4
แต่ที่น่าพิศวง งงงวยที่สุดก็คือ เป็น " ที่ราชพัสดุ " แปลงที่มีการดำเนินงานนานที่สุด ตั้งแต่ พ.ศ 2516 - 2546 สิริรวม 30 ปึเต็ม เฮ้อ !

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

" นิรมิตรหนองญาติ - นิราศหนองเซา " มหาอุปรากรแห่งทศวรรษ องค์ที่ 2

                             องค์ที่  2   " เมื่อ น.ส ไม่มี น.ส 3  ก็เลยงามหน้า กระทาชาย "

เมื่อมีคนสงสัยว่า " หนองญาติ " แต่เดิมที่รัฐบาลสมัยนั้นอนุมัติที่สาธารณะน้ำท่วมถึงให้แค่ 100 ไร่  แล้วกลายมาเป็น 3,284 ไร่และเป็นที่ราชพัสดุได้อย่างไร
จึงมีหนังสือไปขอข้อมูลข่าวสารกับธนารักษ์พื้นที่นครพนม
ซึ่งฝ่ายนั้นก็ดีใจหาย  รีบมีหนังสือตอบมาทันใด
 

 อ้อ หนองญาติ ได้มาโดยการซื้อมาจากเจ้าของที่ดินตามสัญญาซื้อขาย โดยมีหลักฐาน  น.ส 3 จึงเป็นที่ราชพัสดุ  ตามมาตรา 5 ที่ว่า  ได้มาโดยการเวนคืนหรือการแลกเปลี่ยนหรือโดยประการอื่น 
เมื่อฟังแล้วก็ดูดีนะ  เพราะเป็นการชี้แจงที่มีหลักฐานหลักการดีตามรูปแบบของทางราชการ  เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยความเข้าใจดี

หากแต่ ยังมีกระทาชายนายหนึ่ง  ที่เคยมาเที่ยวมาเล่นมาเห็นหนองญาติเกือบชั่วชีวิต  จำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ทางครอบครัวพามากินข้าวป่า ( ปิกนิก ) มาเล่นน้ำจับปูจับปลา ที่ศาลากลางน้ำหนองญาติอยู่บ่อยๆ ก็ไม่เคยเจอเจ้าของหนองญาติ  ออกมาเก็บค่าเข้าเหยียบหนองญาติสักที  ก็เลยเกิดความอยากรู้ว่า  ใครเป็นเจ้าของหนองญาติ
เมื่อความสงสัยรุมเร้ามากขึ้น  จึงหอบสังขารและเอกสารที่เป็นหนังสือเลขที่ กก 0309.35 / 377 ดิ่งไปที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครพนม  
วันนั้นโชคดี  ที่ นส. จุฑามาศ  จันทรสร เจ้าของหนังสืออยู่  จึงขอเข้าพบและได้ถามถึงหลักฐาน น.ส 3 และ สัญญาการซื้อขายหนองญาติ ตามที่เธอใช้อ้างถึงการนำหนองญาติขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ  แรกๆเธอก็ยังตอบด้วยอารมณ์ดีและสารภาพว่า  เอกสารที่ว่านั่น เธอไม่มีหรอก  ถ้าอยากได้ก็ให้ไปขอที่กรมชลประทานเอาเอง  แต่ทางกระทาชายนายนั้นก็ไม่ยอม  บอกว่าเมื่อทางราชการอ้างถึงเอกสารใดๆก็น่าจะมีสิ่งนั้นเป็นประจักหลักฐานด้วย  เป็นเหตุให้เธอชักสีหน้า  แล้วคว้าแฟ้มที่อยู่ตรงหน้า  ออกมาพัดปัดไล่กระทาชายนายนั้น ให้ออกจากห้องทำงานของเธอไปในทันที
เอวัง ความชอบธรรมในการเอาหนองญาติขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ
ก็มีด้วยประการ ฉะนี้  ท่านผู้ชม

จบมหาอุปรากร " นิรมิตรหนองญาติ - นิราศหนองเซา "  องค์ที่  2

ตอน "  เมื่อ น.ส  ไม่มี น.ส 3  ก็เลยงามหน้า กระทาชาย  "